โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม

โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

๒๔. มนุษย์ในครรภ์

๒๔. มนุษย์ในครรภ์

มนุษย์ทั้งสี่ทวีปนั้นมีวิธีกำเนิดได้ทั้ง ๔ แบบ คือ เกิดในครรภ์หรือเกิดในมดลูก (ชลาพุชะกำเนิด) เกิดในไข่ (อัณฑชะกำเนิด) เกิดในเถ้าไคล (สังเสทชะกำเนิด) และเกิดโดยการผุดขึ้น (โอปปาติกะกำเนิด)
มนุษย์ยุคปัจจุบันส่วนมากเป็นมนุษย์ที่มีพ่อมีแม่ เกิดมาแบบชลาพุชะกำเนิดคือเกิดในครรภ์ ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ บิดามารดาร่วมกัน มารดายังมีระดู และมีจิตปรากฏ เมื่อองค์ประกอบ ๓ อย่างครบถ้วนแล้วการปฏิสนธิก็จะบังเกิดขึ้น เกิดเป็นทารกน้อยอยู่ในครรภ์ของมารดา เจริญจากเป็นจุดเล็กๆ เติบโตขึ้นแตกแขนแตกขาเป็นอวัยวะสมบูรณ์แล้วจึงคลอด ทารกบางคนอยู่ในครรภ์นาน ๗ เดือน บางคน ๘ เดือน และส่วนใหญ่อยู่ในครรภ์มารดา ๙ เดือน พระโพธิสัตว์ชาติสุดท้ายจะอยู่ในครรภ์มารดา ๑๐ เดือน
แต่มีมนุษย์คนหนึ่ง ต้องอยู่ในครรภ์นานถึง ๗ ปี กับ ๗ วัน คือ พระสีวลี
พระสีวลีเป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา ราชธิดาเจ้าโกลิยวงศ์แห่ง กุณฑิยานคร ในอดีตกาลชาติหนึ่งพระนางสุปปวาสาเป็นผู้ออกอุบายให้พระสีวลีผู้เป็นโอรสปิดประตูเมืองเพื่อขังอริราชศัตรูให้อดอาหารนานถึง ๗ เดือน กับ ๗ วัน ด้วยบุรพกรรมนั้นพระนางจึงทรงครรภ์อยู่นานถึง ๗ ปี แล้วเจ็บครรภ์เสวยทุกขเวทนาอยู่อีก ๗ วัน จึงประสูติพระสีวลี
พระสีวลีประสูติแล้วได้บรรพชาเป็นสามเณรในวันนั้นเลย และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทันทีเมื่อปลงผมเสร็จ
การกำเนิดเป็นมนุษย์ในครรภ์ปกติต้องอาศัยองค์ประกอบครบทั้ง ๓ อย่าง แต่มนุษย์บางคนก็สามารถกำเนิดขึ้นได้โดยที่มีองค์ประกอบไม่ครบ ตัวอย่างเช่นพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติที่เกิดเป็นสุวรรณสาม
ครั้งนั้นเป็นช่วงที่โลกว่างจากพระศาสนา เพราะพุทธกาลของพระกัสสปะอันตรธานไปแล้ว ในครั้งนั้นทุกูลกุมารกับปาริกากุมารีถูกผู้ใหญ่ให้แต่งงานกัน แต่ทั้งสองจุติมาจากพรหมโลกจึงมีอุปนิสัยดังพระพรหมสององค์ ไม่สนใจเกี่ยวข้องกันด้วยเมถุนกรรมเลย เมื่อบิดามารดาทำกาละแล้วจึงออกบวชเป็นดาบสและดาบสินี บำเพ็ญพรตอยู่ในป่า
วันหนึ่ง ท้าวสักกเทวราชเห็นว่านักบวชทั้งสองจะต้องตาบอดเพราะกรรมที่ชาติหนึ่งเป็นหมอแล้วแกล้งทำให้ผู้ป่วยตาบอด ทรงเกรงว่าความเป็นอยู่ของดาบสทั้งสองจะลำบากจึงเสด็จไปบอกให้ทั้งสองมีบุตร แต่นักบวชทั้งสองไม่อาจทำกรรมลามกเพื่อให้มีบุตรได้ ท้าวสักกะจึงบอกวิธีให้ทุกูลดาบสเอามือลูบท้องปาริกาดาบสินีเมื่อนางมีระดู ทำให้ทั้งสองมีบุตรคนหนึ่งชื่อ สุวรรณสาม
สุวรรณสามจึงเป็นมนุษย์พิเศษที่เกิดจากครรภ์โดยบิดามารดาไม่ได้ร่วมกัน
นอกจากนี้ยังมีมนุษย์ที่เกิดจากครรภ์ แต่เมื่อแรกเกิดใหม่ๆ นั้นยังไม่มีรูปร่างอย่างมนุษย์ แต่มีลักษณะเป็นเพียงชิ้นเนื้อ ต่อมาภายหลังจึงค่อยๆ เจริญขึ้นเป็นร่างกายมนุษย์ เป็นปฐมวงศ์เจ้าลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชี
ในอดีตกาล พระเจ้ากรุงพาราณสีมีมเหสีหลายองค์ พระมเหสีแต่ละองค์ต่างประสูติพระโอรสรูปงาม แต่พระอัครมเหสีกลับประสูติเป็นชิ้นเนื้อสีแดง พระนางเกรงว่าจะมีเสียงติเตียน จึงให้เอาชิ้นเนื้อลอยน้ำไป โดยมีจารึกบอกไปด้วยว่าเป็นโอรสธิดาของพระอัครมเหสีแห่งกรุงพาราณสี
ชิ้นเนื้อนั้นลอยไปตามแม่น้ำคงคา ดาบสรูปหนึ่งอาบน้ำพบชิ้นเนื้อนั้นจึงนำกลับไปยังอาศรม ครึ่งเดือนต่อมาชิ้นเนื้อก็แยกเป็นสองชิ้น อีกครึ่งเดือนต่อมาชิ้นเนื้อแต่ละชิ้นเริ่มมีปุ่ม เป็นมือ เท้า และศีรษะ ครึ่งเดือนต่อมากลายเป็นทารกหญิงทารกชาย ดาบสจึงเลี้ยงดูทารกนั้นโดยเนรมิตน้ำนมจากหัวแม่มือให้ดื่มกิน
ทารกทั้งสองนี้ผิวบางใสมาก จึงได้ชื่อว่า ลิจฉวี
ดาบสมีภาระเลี้ยงดูทารกทั้งสองจนไม่มีเวลาปฏิบัติพรต พวกคนเลี้ยงโคจึงอาสาขอรับเด็กทั้งสองไปเลี้ยงดู ดาบสยอมยกให้แต่บอกพวกคนเลี้ยงโคว่าเด็กสองคนนี้เป็นโอรสธิดาพระราชา โตขึ้นให้ช่วยกันสร้างเมืองให้เด็กคู่นี้เป็นพระราชาด้วย
ครั้นเด็กทั้งสองอายุได้ ๑๖ ปี พวกคนเลี้ยงโคจึงให้ทั้งสองแต่งงานกัน และสร้างเมืองให้ในแคว้น วัชชี ให้ทั้งสองขึ้นปกครองเมือง เรียกว่า เจ้าลิจฉวี
ต่อมา เจ้าลิจฉวีก็มีโอรสและธิดา ๑๖ คู่ เมื่อโตขึ้น โอรสและธิดาทั้ง ๑๖ คู่ก็แต่งงานกัน มีโอรสธิดาสืบต่อกันมาจำนวนมากจนต้องขยายเขตกำแพงใหม่เมืองถึง ๓ ครั้ง เมืองนี้จึงมีกำแพงเมืองถึง ๓ ชั้น และได้ชื่อเมืองว่า กรุงเวสาลี หรือไพสาลี
จนถึงครั้งพุทธกาล เจ้าลิจฉวีก็มีลูกหลานเพิ่มขึ้นรวมถึง ๗,๗๐๗ พระองค์ มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีอาราม ๗,๗๐๗ อาราม มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ เจ้าลิจฉวีเหล่านี้ร่วมกันปกครองบ้านเมืองด้วยระบอบสามัคคีธรรม คือ เจ้าลิจฉวีทุกองค์มีส่วนร่วมในการปกครองโดยหมุนเวียนเจ้าลิจฉวีองค์หนึ่งขึ้นเป็นพระราชา จะทำอะไรก็ปรึกษาหารือกัน ลงมติร่วมกัน ความเจริญจึงเกิด ผู้คนอพยพมาอยู่เวสาลีเป็นจำนวนมาก เวสาลีสมัยนั้นจึงเป็นเมืองใหญ่และเจริญรุ่งเรืองมาก
ตอนต่อไปจะเล่าเรื่องที่แปลกกว่านี้อีก คือเรื่องของมนุษย์ที่เกิดจากไข่….

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา

ชาญวิทย์  ปรีชาพาณิชพัฒนา