โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม

โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

๑. จักรวาล

๑. จักรวาล

จักรวาลทางพุทธศาสนา
เรื่องของจักรวาลและภพภูมิ เป็นเรื่องที่คนทุกชาติทุกศาสนาสนใจใคร่รู้มาทุกยุคทุกสมัย อยากรู้ว่าจักรวาลกว้างใหญ่แค่ไหน และเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เพราะเป็นเรื่องที่รู้ได้ยากเห็นได้ยาก เกินวิสัยที่บรรดาศาสดาทั้งหลายจะอธิบายได้ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงมักยกพระเจ้าขึ้นมาอ้างว่าสิ่งทั้งหลายพระเจ้าเป็นผู้สร้าง ทุกอย่างเป็นไปเพราะพระเจ้า แต่พอยกพระเจ้าขึ้นมาอ้างแล้วก็ต้องจำนนหาเหตุผลมาอธิบายต่อไม่ได้ว่าแล้วใครเล่าเป็นผู้สร้างพระเจ้า
เรื่องของจักรวาลและภพภูมินี้โดยความเป็นจริงแล้วผู้ที่มีญานมีอภิญญา ทั้งในศาสนาและนอกศาสนาก็พอจะสามารถรู้ได้เห็นได้ แต่เพราะจักรวาลและภพภูมิมีทั้งส่วนหยาบที่มนุษย์ทั่วไปมองเห็นได้ด้วยตา กับส่วนละเอียดซึ่งผู้มีอภิญญาญาณเท่านั้นจึงจะมองเห็น ผู้มีอภิญญามากเห็นได้มาก ส่วนผู้มีอภิญญาน้อยเห็นได้น้อย บางทีก็เห็นกันคนละส่วนคนละมุมมอง เรื่องที่นำมาเล่าต่อๆ กันมาจึงแตกต่างกัน ยิ่งทำให้คนทั่วไปที่ไม่สามารถรู้เห็นภพภูมิส่วนละเอียดเหล่านั้นด้วยตาตนเองเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วจึงยิ่งสับสน และติดใจสงสัยว่าตกลงความจริงเป็นอย่างไรกันแน่
แต่สำหรับพุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นบรมครูของเราแล้ว พระองค์ทรงรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องของโลก จักรวาล และภพภูมิ ดุจเห็นผลมะกอกในฝ่าพระหัตถ์ ทรงอธิบายไว้มากพอสมควรทั้งสภาพ ตำแหน่งที่ตั้ง กำเนิด และการแตกดับ แต่เพราะพระองค์ทรงรู้ว่าเรื่องนี้คนทั่วไปรู้ได้ยาก เข้าใจได้ยาก และไม่มีประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นเลย จึงทรงมีพุทธวัจนะว่าเรื่องของโลกจินดานั้นเป็นอจิณไตย ไม่ควรคิด คิดแล้วปวดหัว คิดแล้วไม่เข้าใจ จะทำให้เป็นบ้าไปเสียเปล่าๆ เพราะเกินวิสัยของสามัญชนทั่วไปที่จะรู้เห็นได้
บางคนจึงสรุปรวบรัดตัดตอนจากพุทธวัจนะว่าเรื่องของจักรวาลและภพภูมิเป็นเรื่องนอกพุทธศาสนา ไม่ควรสนใจ เพราะพระพุทธเจ้าไม่ทรงสอน ความเห็นนี้ถูกตรงเพียงส่วนเดียวที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงสอน เพราะเรื่องของโลกและจักรวาลเป็นเพียงเปลือกและกระพี้ของพุทธศาสนา เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้รู้แล้วก็ไม่มีประโยชน์เพื่อความหลุดพ้น รังแต่จะทำให้ยึดติด เสียโอกาสเสียเวลาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงสอน แต่ก็ไม่ปฏิเสธการมีอยู่ ทรงเปรียบเทียบว่าสิ่งที่พระองค์ทรงรู้นั้นมีมากมายนัก เปรียบได้กับใบไม้ในป่าใหญ่ที่มีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน แต่พระองค์ทรงเลือกเฟ้นธรรมมาสั่งสอนจำนวนเพียงแค่ใบไม้ในกำมือเดียวเท่านั้น ซึ่งเพียงพอแล้วต่อการปฏิบัติให้เข้าถึงมรรคผลนิพพาน
สรุปว่าโลกและจักรวาลอันเป็นที่ตั้งของภพภูมิต่างๆ นั้นมีอยู่จริง เป็นที่เกิดที่ตายที่เวียนว่ายของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ควรเลยที่จะหลงผิดว่ามีแต่โลกนี้ โลกหน้าไม่มี โลกอื่นไม่มี เป็นมิจฉาทิฏฐิที่พระพุทธองค์ให้ละเสีย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน
มิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้วไม่มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี ฯ
แม้ว่าพระพุทธองค์จะไม่ทรงสอนเรื่องของโลกและจักรวาลโดยตรง แต่พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสถึงเรื่องของจักรวาลและภพภูมิต่างๆ รวมทั้งทรงแสดงหนทางไปอุบัติในภพภูมิเหล่านั้นไว้ด้วย เพราะสรรพสัตว์ทั้งหลายหากยังหลงเวียนเกิดเวียนตายอยู่ ย่อมไม่พ้นที่จะต้องวนเวียนไปเกิดในภพภูมิทั้งหลายเหล่านั้น พระพุทธองค์จึงทรงแสดงเรื่องของภพภูมิเพื่อให้เหล่าสัตว์หวาดกลัวผลของบาปกรรม เว้นจากการประพฤติอกุศลกรรมอันเป็นหนทางไปสู่ภพภูมิที่ทุกข์ลำบาก และให้เหล่าสัตว์พากันสร้างกุศลกรรม อย่างน้อยหากยังต้องเวียนว่ายอยู่ในสงสารนี้อีก จะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีมีความสุข ซึ่งสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสถึงนั้น มีหลักฐานปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถาพระไตรปิฎกมากมายหลายแห่ง เรื่องของโลกและจักรวาลจึงไม่ใช่เรื่องนอกศาสนาเลย
โครงสร้างจักรวาล
จักรวาลที่อธิบายไว้ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนานั้น มีลักษณะเป็นวงกลมคล้ายจักรที่หมุนไป จึงเรียกว่า จักรวาล มีปริมณฑลคือความยาวโดยรอบ ๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์ ล้อมรอบด้วยภูเขาจักรวาล เบื้องบนเป็นอากาศ เบื้องล่างเป็นปฐพี ใต้ปฐพีรองรับด้วยน้ำ ใต้น้ำรองรับด้วยลม และใต้ลมเป็นความว่างเปล่า
ชั้นพื้นปฐพีมีความหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์
ชั้นน้ำหนา ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์
ชั้นลมหนา ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์
ในพระคิริมานนทสูตร อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับจักรวาลไว้ว่า เบื้องล่างสุดใต้ชั้นลมลงไปเป็นความว่างเปล่าหาที่สุดมิได้ และเบื้องบนสุดเหนือพรหมโลกขึ้นไปก็เป็นความว่างเปล่าหาที่สิ้นสุดมิได้เช่นกัน
จักรวาล

จักรวาล
ภูเขาสิเนรุ
จักรวาลมีภูเขาทิพย์ลูกใหญ่ชื่อ สิเนรุ หรือที่คนไทยเรียกว่า เขาพระสุเมรุ เป็นศูนย์กลาง ภูเขาทิพย์ลูกนี้มีสัณฐานกลม มีปริมณฑลวัดโดยรอบ ๒๕๒,๐๐๐ โยชน์ ความสูง ๑๖๘,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลึกลงในน้ำ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไปในอากาศ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ด้านล่างพยุงอยู่ด้วยภูเขาสามเส้าเรียกว่า ภูเขาตรีกูฏ ซอกเขาตรีกูฏเป็นที่อยู่ของพวกเปรต ส่วนช่องว่างประมาณ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ใต้เขาสิเนรุระหว่างเขาตรีกูฏเป็นที่อยู่ของพวกอสูร เรียกว่า อสูรพิภพ ลึกใต้ภูเขาตรีกูฏและอสูรพิภพลงไปเป็นที่ตั้งของนรกขุมต่างๆ
กลางเขาและเชิงเขาสิเนรุโดยรอบไปจนสุดเขาจักรวาล เป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา บนยอดเขาพื้นที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนสวรรค์ชั้นที่เหลือและพรหมโลก ลอยอยู่เหนือยอดเขาสิเนรุขึ้นไปตามลำดับ
เขาสิเนรุประกอบด้วยรัตนะหรือมณีมีค่าต่างๆ คือ ไหล่เขาทางทิศเหนือเป็นทองคำ ทิศตะวันออกเป็นเงิน ทิศใต้เป็นมรกต และทิศตะวันตกเป็นแก้วผลึก ต้นไม้และมหาสมุทรในแต่ละทิศได้รับแสงสะท้อนจากรัตนะเหล่านั้น ทำให้มีสีเป็นไปตามสีของรัตนะไปด้วย เช่น โลกมนุษย์ของเราอยู่ทางทิศใต้ ได้รับแสงจากมรกต ใบไม้จึงมีสีเขียว น้ำทะเลก็เป็นสีเขียวมรกต เป็นต้น
แม้เขาสิเนรุจะเป็นภูเขาขนาดใหญ่ แต่เพราะเป็นภูเขาทิพย์ มนุษย์ธรรมดาจึงไม่อาจมองเห็นได้ แต่หากเป็นมนุษย์ผู้มีทิพย์จักษุย่อมมองเห็นเขาสิเนรุได้ด้วยตาทิพย์
ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าประสงค์จะปราบมิจฉาทิฏฐิของนันโทปนันทนาคราช พระองค์จึงเสด็จนำพระสาวกอรหันต์ขีณาสพเหาะห้ามเศียรพระยานาคราชเพื่อไปสวรรค์ นันโทปนันทนาคราชโกรธที่มีสมณะมาเหาะข้ามศีรษะ จึงแสดงฤทธิ์จำแลงกายเป็นพระยานาคใหญ่ไปม้วนกายพันรอบเขาสิเนรุไว้ และเอาพังพานแผ่ปิดยอดเขาสิเนรุเสียจนสิ้น
ท่านรัฏฐปาลเถระเห็นผิดปกติจึงทูลถามพระศาสดาว่า
“ข้าแต่พระศาสดาผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์ยืนอยู่ตรงนี้ สามารถมองเห็นเขาสิเนรุ และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่บนยอดเขา มองเห็นเวชยันต์วิมานของท้าวสักกเทวราช และเห็นธงธวัชโบกสบัดอยู่บนยอดวิมานนั้น แต่วันนี้กลับไม่เห็นอะไรเลย ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุอะไรพระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าดำรัสตอบว่า เป็นเพราะนันโทปนันทนาคราชใช้ฤทธิ์มาปิดไว้
นี่แสดงว่าเขาสิเนรุนั้นสูงใหญ่มากจนสามารถมองเห็นได้จากระยะไกล แต่ผู้มีอภิญญาญาณเท่านั้นจึงจะสามารถมองเห็นเขาสิเนรุได้เป็นปกติ
มหานทีสีทันดร
รอบเขาสิเนรุล้อมรอบด้วยมหาสมุทรใหญ่ น้ำในมหาสมุทรนี้ละเอียดมาก จนแม้แววหางนกยูงที่แสนจะเบาบางยังไม่อาจลอยอยู่ได้ มหาสมุทรนี้จึงมีชื่อว่า นทีสีทันดร (มาจากคำว่า นที แปลว่าน้ำ สีทะ แปลว่าทำให้ทุกๆ สิ่งจมลง และอันตระ แปลว่า ระหว่าง หมายถึงคั่นอยู่ระหว่างเขาสัตตบริภัณฑ์)
น้ำในนทีสีทันดรนั้นลึกมาก บริเวณรอบเขาสิเนรุจะลึกที่สุด และลึกน้อยลงเมื่ออยู่ไกลออกไป ในมหานทีสีทันดรมีปลาขนาดใหญ่ ๘ ชนิด อาศัยอยู่ คือ
ปลาติมิ ใหญ่ ๒๐๐ โยชน์
ปลาติมิงคละ ใหญ่ ๓๐๐ โยชน์
ปลาติมิติมิงคละ ใหญ่ ๔๐๐ โยชน์
ปลาติมิรมิงคละ ใหญ่ ๕๐๐ โยชน์
ปลาอานันทะ ใหญ่ ๑,๐๐๐ โยชน์
ปลาติมินทะ ใหญ่ ๑,๐๐๐ โยชน์
ปลาอัชฌาโรหะ ใหญ่ ๑,๐๐๐ โยชน์
ปลามหาติมิ ใหญ่ ๑,๐๐๐ โยชน์
ด้วยความที่เป็นปลาตัวใหญ่มากนี่เอง เมื่อปลาติมิรมิงคละกระดิกหูเพียงข้างเดียวก็ทำให้น้ำกระเพื่อมไกลถึง ๕๐๐ โยชน์ หรือเมื่อกระดิกหัวหรือกระดิกหาง น้ำก็จะกระเพื่อมไปไกล ๕๐๐ โยชน์เหมือนกัน ยิ่งถ้าถึงขั้นกระดิกหูพร้อมกันสองข้าง เอาหางฟาดน้ำ หรือส่ายหัวเล่นน้ำ น้ำก็จะเป็นฟองเดือดพล่านไปไกลถึง ๗๐๐-๘๐๐ โยชน์เลยทีเดียว
ภูเขาสัตตบริภัณฑ์
ในท้องมหานทีสีทันดรที่ล้อมรอบเขาสิเนรุอยู่นั้น มีภูเขาใหญ่โผล่พ้นน้ำล้อมเป็นวงรอบเขาสิเนรุอีก ๗ ชั้น เรียกว่าภูเขาสัตตบริภัณฑ์ หรือสัตตบรรพต มีชื่อเรียงลำดับจากวงในไปวงนอก คือ ภูเขาสุทัสสนะ กรวิก อิสินธร ยุคันธร เนมินธร วินตกะ และอัสสกัณณ์
ภูเขาสัตตบริภัณฑ์นี้มีความสูงลดหลั่นกันเป็นขั้นบันได คือ ภูเขาสุทัสสนะสูงครึ่งหนึ่งของภูเขาสิเนรุ คือ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ ภูเขากรวิกสูงครึ่งหนึ่งของภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาอิสินธรสูงครึ่งหนึ่งของภูเขากรวิก ภูเขายุคันธรสูงครึ่งหนึ่งของภูเขาอิสินธร ภูเขาเนมินธรสูงครึ่งหนึ่งของภูเขายุคันธร ภูเขาวินตกะสูงครึ่งหนึ่งของภูเขาเนมินธร และภูเขาอัสสกัณณ์สูงครึ่งหนึ่งของภูเขาวินตกะ
ภูเขาจักรวาล
ถัดจากภูเขาวงสุดท้าย คือ ภูเขาอัสสกัณณ์ มีภูเขาล้อมรอบชั้นนอกสุดเป็นขอบเขต ชื่อว่า ภูเขาจักรวาล
ภูเขาจักรวาลมีความสูงเกือบเท่ากับเขาสิเนรุ คือสูง ๘๒,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงในน้ำ ๘๒,๐๐๐ โยชน์ กว้าง ๘๒,๐๐๐ โยชน์ อยู่ห่างจากเขาสิเนรุ ๔๗๗,๗๒๕ โยชน์
ในท้องนทีสีทันดรระหว่างภูเขาจักรวาลกับภูเขาอัสสกัณณ์ เป็นที่ตั้งของทวีปใหญ่ทั้ง ๔ และทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เบื้องบนเป็นวิถีโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ซึ่งโคจรอยู่รอบเขาสิเนรุ ส่องแสงสว่างไปถึงยอดเขาสิเนรุ อีกด้านหนึ่งส่องไปไกลถึงกลางภูเขาจักรวาล พ้นกลางเขาจักรวาลที่แสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึงเป็นที่มืด โดยเฉพาะขอบนอกของภูเขาจักรวาลนั้นยิ่งมืดมาก เป็นที่ตั้งของโลกันตนรก
ไตรภูมิ
ทุกส่วนของจักรวาลเป็นภูมิที่อยู่ของสรรพสัตว์ต่างๆ มีทั้งอยู่บนดิน ใต้ดิน ในน้ำ ในอากาศ ไม้เว้นแม้แต่นอกขอบเขาจักรวาล
ภูมิต่างๆ ที่เหล่าสัตว์อาศัยอยู่ เรียกว่า ไตรภูมิ
ไตรภูมิ มีความหมายหลายนัย ขึ้นอยู่กับเจตนาและความเข้าใจของผู้พูด เช่นอยากเปรียบเทียบว่ามนุษย์เป็นภูมิกลางๆ มีภูมิที่สูงกว่านี้และมีภูมิที่ต่ำกว่านี้ ไตรภูมิก็หมายถึง โลกมนุษย์ สวรรค์ และนรก หรือหากอยากเปรียบเทียบว่ามนุษย์เป็นภูมิต่ำ ยังมีภูมิที่สูงกว่านี้อีก ไตรภูมิก็หมายถึง โลกมนุษย์ สวรรค์ และพรหมโลก ซึ่งการแบ่งไตรภูมิแบบนี้ไม่ครอบคลุมทุกภพภูมิที่มีอยู่
ความหมายของไตรภูมิตามคัมภีร์ทางพุทธศาสนานั้น หมายถึง ภูมิที่อยู่ของสัตว์ ๓ ภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ
๑. กามภูมิ
เป็นภูมิที่อยู่ของสัตว์ผู้เสพกามคุณ ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส แบ่งเป็นทุคติภูมิ คือ ภูมิที่ได้รับความทุกข์ลำบากจากกามคุณทั้ง ๕ ได้แก่ นรกภูมิ เปรตภูมิ อสุรกายภูมิ ดิรัจฉานภูมิ และสุคติภูมิ คือ ภูมิที่ได้รับความสบายความเพลิดเพลินจากกามคุณทั้ง ๕ ได้แก่ มนุสสภูมิ และเทวภูมิ
๒. รูปภูมิ
เป็นภูมิที่อยู่ของสัตว์ที่พ้นจากกามคุณอารมณ์ แต่อยู่ด้วยปีติในรูปฌาน ได้แก่ รูปพรหม ๑๖ ภูมิ
๓. อรูปภูมิ
เป็นภูมิที่อยู่ของสัตว์ที่อยู่ด้วยความสุขในความว่างของอรูปฌาน ได้แก่ อรูปพรหม ๔ ภูมิ
เนื่องจากกามภูมินั้นเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายสุคติ และฝ่ายทุคติ บางทีจึงแบ่งภูมิ ๓ ออกเป็น ๔ คือ อบายภูมิ กามสุคติภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ
๓๑ ภพภูมิ
การแบ่งภพภูมิเป็นไตรภูมินั้นเป็นวิธีการแบ่งแบบใหญ่ๆ แต่หากจะแบ่งให้แยกย่อยละเอียดมากยิ่งขึ้น จะสามารถแบ่งได้เป็น ๓๑ ภูมิ คือ
- ทุคติภูมิ ๔
- มนุษย์ภูมิ ๑
- เทวภูมิ ๖
- รูปพรหมภูมิ ๑๖
- อรูปพรหมภูมิ ๔
๓๑ ภพภูมิที่กล่าวถึงนี้มีชื่อเรียกต่างกัน มีระดับของความสุขความทุกข์ต่างกัน และมีระดับความสูงต่ำของที่ตั้งภพภูมิแตกต่างกันด้วย
๓๑ ภพภูมิ และระดับที่ตั้ง
จักรวาล
๑๖ ชั้นฟ้า ๑๕ ชั้นดิน
วิธีการนับภพภูมิต่างๆ นั้น มีการแบ่งภพภูมิเป็นชั้นฟ้ากับชั้นดิน เรียกว่า ๑๖ ชั้นฟ้า ๑๕ ชั้นดิน
การแบ่งชั้นดินชั้นฟ้านั้นแบ่งกันด้วยภูเขาสิเนรุ ตั้งแต่นรกเบื้องต่ำขึ้นมาจนถึงยอดเขาสิเนรุอันเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นับเป็นชั้นดิน ส่วนสวรรค์ชั้นยามาเป็นต้นไปจนถึงพรหมโลกทั้งหมดลอยอยู่ในอากาศ จึงนับเป็นชั้นฟ้า
จำนวนชั้นฟ้ามี ๑๖ ชั้น ทั้งๆ ที่เมื่อดูในรูปประกอบจะนับได้ ๑๗ ชั้น ทั้งนี้เป็นเพราะนับพรหมโลกชั้นทุติยฌานภูมิกับตติยฌานภูมิเป็นชั้นเดียวกัน ดังนั้นชั้นฟ้าจึงกลายเป็นแค่ ๑๖ ชั้นเท่านั้น
ส่วนชั้นดิน ๑๕ ชั้น ประกอบด้วยนรก ๙ คือ มหานรกขุมใหญ่ ๘ ขุม และโลกันตนรกที่อยู่ขอบจักรวาลอีก ๑ ขุม รวมกับเปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน มนุษย์ จาตุมหาราชิกา และดาวดึงส์ รวมกันได้ ๑๕ ชั้นดิน
จักรวาลอื่น
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นจักรวาลของเราเพียงจักรวาลเดียว แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าพ้นขอบเขาจักรวาลของเราออกไป ยังมีจักรวาลอื่นๆ อีกมากมายนับจำนวนอนันต์ จึงเรียกว่า อนันตจักรวาล
อนันตจักรวาลแต่ละจักรวาลมีลักษณะเหมือนๆ กัน เมื่อมาอยู่ประชิดติดกันเป็นกลุ่มจักรวาลจะเรียกว่า โลกธาตุ ซึ่งอาจมีเพียงจักรวาลเดียว หรือพันจักรวาล หรือหมื่นจักรวาล หรือมากมายนับแสนโกฏิจักรวาลก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโลกธาตุขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่
ในโลกธาตุหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กพันจักรวาล จะประกอบด้วยพระจันทร์พันดวง พระอาทิตย์พันดวง ขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง ทวีปใหญ่สี่พัน ท้าวมหาราชสี่พัน เทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง เทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง เทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง เทวโลกชั้นดุสิตพันหนึ่ง เทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง เทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตดีพันหนึ่ง ฯลฯ
แม้จักรวาลแต่ละจักรวาลจะมีลักษณะเหมือนๆ กัน แต่ในจำนวนแสนโกฏิจักรวาลที่พระพุทธเจ้าทรงแผ่พุทธญาณไปถึงนั้น มีเพียงจักรวาลของเรานี้เท่านั้นที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ จึงเรียกว่า มงคลจักรวาล ส่วนอนันตจักรวาลอื่นๆ ที่เหลือล้วนเรียกว่า อมงคลจักรวาล ทั้งสิ้น
ดังนั้น เมื่อผู้เฒ่าผู้แก่ทำบุญจึงมักอธิษฐานว่า “ขออย่าให้หลงไปเกิดจักรวาลอื่นเลย” เพราะท่านเหล่านั้นปรารถนาจะได้เกิดมาพบพระศาสนาอีก และได้พบกับพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา

ชาญวิทย์  ปรีชาพาณิชพัฒนา