
ดิรัจฉาน คือ สัตว์ที่ไปโดยส่วนขวาง มีลำตัวขนานกับพื้น หรืออีกนัยหนึ่งคือสัตว์ที่ขวางจากมรรคผลนิพพาน ไม่สามารถเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้

ที่อยู่หรือภูมิของสัตว์ดิรัจฉานซ้อนทับกับภูมิอื่นๆ คือ ซ้อนทับกับมนุสสภูมิเป็นสัตว์ดิรัจฉานที่มนุษย์มองเห็นได้ด้วยตา ได้แก่ สุนัข วัว ควาย เป็นต้น ซ้อนทับกับสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาโดยเฉพาะในป่าหิมพานต์และในนทีสีทันดร เรียกว่าสัตว์สวรรค์ ได้แก่ นาค ครุฑ กินนร กินรี ไกรสรณ์ ราชสีห์ เป็นต้น และมีที่ซ้อนทับกับเปรตภูมิและนรกภูมิ ได้แก่ สุนัขและอีกาปากเหล็กที่คอยไล่กัดไล่จิกเปรตและสัตว์นรก พวกนี้เป็นสัตว์ที่เกิดมาด้วยอำนาจกรรมเพื่อทำหน้าที่ลงโทษเปรตและสัตว์นรกเหล่านั้นโดยเฉพาะ ส่วนในสวรรค์ตั้งแต่ชั้นดาวดึงส์ขึ้นไปจนถึงพรหมโลกไม่มีสัตว์ดิรัจฉานอาศัยอยู่ ช้างเอราวัณในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นก็เป็นเทวดาแปลง ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานจริง

สัตว์ดิรัจฉานมีรูปร่างหลากหลาย เพราะมีอกุศลกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีรูปร่างแตกต่างกัน บางพวกอยู่บนบก บางพวกอยู่ในน้ำ บางพวกอยู่ในดิน บางพวกมีปีก แต่ถ้าจะจำแนกตามจำนวนขาที่เห็น สามารถจำแนกได้ ๔ จำพวก คือ

๑. สัตว์อบาท

เป็นสัตว์ไม่มีขา เช่น ปลา งู ไส้เดือน

๒. สัตว์ทวิบาท

เป็นสัตว์มี ๒ ขา เช่น นก เป็ด ไก่

๓. สัตว์จตุบาท

เป็นสัตว์มี ๔ ขา เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ

๔. สัตว์พหุบาท

เป็นสัตว์มีขามาก เช่น กุ้ง ปู แมลงมุม ตะขาบ กิ้งกือ

สัตว์ดิรัจฉาน มีความทุกข์เพราะความอยาก ๓ อย่าง คือ

๑. อยากเสพกาม

๒. อยากกิน

๓. อยากอยู่ ไม่อยากตาย คือ กลัวตาย

สัตว์ดิรัจฉานไม่รู้จักผิด ชอบ ชั่ว ดี กุศล หรืออกุศล ยกเว้นสัตว์ดิรัจฉานที่เป็นพระโพธิสัตว์ หรือสัตว์ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาที่เป็นสัตว์สวรรค์ จึงมีธรรมสัญญาปรากฏได้

สัตว์ดิรัจฉานเป็นสัตว์ในทุคติภูมิที่มีความทุกข์รองจากสัตว์นรก แต่ความสุขความทุกข์อาจมากน้อยต่างกันแล้วแต่บุญกรรม เพราะบางพวกก็อิ่มอ้วนพี บางพวกอดอยาก บางพวกเดือดร้อนน้อย บางพวกเดือดร้อนมาก

สัตว์ดิรัจฉานมีโอกาสได้สร้างกุศลได้บ้าง แม้จะยากแต่ก็ยังดีกว่าสัตว์นรกที่ไม่มีโอกาสได้สร้างกุศลเลย ตัวอย่างเช่น ลิงกับช้างปาลิเลไลยกะที่ได้ทำความดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า หรือช้างฉัททันต์ที่ได้ดูแลอุปัฏฐากพระโกณฑัญญะเมื่อท่านหลีกจากหมู่คณะไปอยู่ในป่าหิมวันต์ เป็นต้น

ตอนหน้าจะยกตัวอย่างสองสามคนที่ตายแล้วไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น