
ชมพูทวีปเป็นที่อุบัติของมนุษย์ผู้เป็นเลิศ ผู้มีคุณความดีสูงสุด เป็นที่เคารพบูชาของมนุษย์ รวมถึงเทวดา พระอินทร์ และพระพรหม คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวก และเป็นที่อุบัติของพระเจ้าจักรพรรดิซึ่งมีบุญบารมีสูงเช่นเดียวกัน พระเจ้าจักรพรรดิบางองค์มีบุญบารมีมากเทียบเท่าหรือมากกว่าท้าวสักกเทวราชผู้ทรงเป็นจอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระเจ้าจักรพรรดิ คือ พระราชาผู้มีบุญญาธิการและบุญฤทธิ์สูงสุดประมาณ พระองค์ไม่ได้เป็นเพียงราชาปกครองเมืองใดเมืองหนึ่ง แต่พระองค์มีอำนาจเหนือทวีปใหญ่ทั้งสี่ และทวีปน้อยสองพัน พระองค์ทรงมีฤทธิ์อำนาจเหนือทวีปทั้งหลายไม่ใช่ด้วยกำลัง แต่ด้วยคุณความดี พระองค์ทรงปกครองด้วยธรรม ทรงแสดงธรรมให้อาณาประชาราษฎร์ฟังดุจพระเถระแสดงธรรม บางครั้งจึงเรียกพระองค์ว่า พระเจ้าธรรมิกราช

พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา จัดเป็น ๑ ใน ๔ บุคลควรบูชาอันหาได้ยากยิ่งในโลก คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ และพระเจ้าจักรพรรดิ บุคคล ๔ จำพวกนี้เรียกว่า
ถูปารหบุคคล
ถูปารหบุคคล เป็นบุคคลผู้มีบุญ เป็นผู้สมควรสร้างสถูปเจดีย์ขึ้นบูชาได้ ใครก็ตามหากได้บูชาเจดีย์ของถูปารหบุคคลด้วยความเลื่อมใส ผู้นั้นย่อมได้ไปสวรรค์ ส่วนเจดีย์สำหรับมนุษย์อื่นนั้นบูชาแล้วทำให้ไปสวรรค์ไม่ได้ ซึ่งพระเจ้าจักรพรรดิก็เป็นหนึ่งในถูปารหบุคคลนั้น

และพระเจ้าจักรพรรดินั้นจะมาอุบัติเฉพาะในชมพูทวีปเท่านั้น

การเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้นไม่ใช่เป็นเพราะตระกูล ไม่ได้เป็นด้วยการรบหรือใช้อำนาจข่มขู่ และไม่ได้มาด้วยกำลัง แต่ได้มาด้วยบุญบารมีที่สร้างสมไว้อย่างเพียงพอในอดีต รักษาทศพิธราชธรรมในปัจจุบัน และสามารถรักษาจักรวรรดิวัตรอันเป็นวัตรปฏิบัติสำหรับพระเจ้าจักรพรรดิโดยเฉพาะได้สมบูรณ์

พระเจ้าจักรพรรดิทุกพระองค์ จะทรงอุบัติขึ้นในชมพูทวีป ในช่วงที่อายุขัยของชาวชมพูทวีปยืนยาวมาก โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ขึ้นไปจะเป็นช่วงที่มีพระเจ้าจักรพรรดิมาอุบัติมาก

เนื่องจากพระเจ้าจักรพรรดิไม่ได้อุบัติโดยตระกูล ดังนั้นพระเจ้าจักรพรรดิทุกพระองค์จึงเริ่มจากการเป็นพระราชาธรรมดาก่อน เมื่อรักษาทศพิธราชธรรมและรักษาจักรวรรดิวัตรได้สมบูรณ์แล้ว รัตนะ ๗ ประการคู่บุญบารมีจึงจะบังเกิดขึ้น คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คหบดีแก้ว และขุนพลแก้ว

ตัวอย่างของพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง คือ
พระเจ้ามหาสุทัสสนะ แห่งนครกุสาวดี นครนั้นรุ่งเรืองมาก รอบพระนครล้อมรอบด้วยกำแพง ๗ ชั้น คือ กำแพงทองคำ กำแพงเงิน กำแพงแก้วไพฑูรย์ กำแพงแก้วผลึก กำแพงแก้วทับทิม กำแพงบุษราคัม และกำแพงแก้วทุกอย่างมารวมกัน

กุสาวดีนคร มีประตู ๔ ชนิด คือ ประตูทองคำ ประตูเงิน ประตูแก้วไพฑูรย์ และประตูแก้วผลึก แต่ละประตูปักเสาระเนียด ๗ ต้น คือ เสาทองคำ เสาเงิน เสาแก้วไพฑูรย์ เสาแก้วผลึก เสาแก้วทับทิม เสาบุษราคัม และเสาแก้วทุกอย่างรวมกัน

กุสาวดีนคร มีแถวตาลล้อม ๗ แถว คือ ตาลทองคำ ตาลเงิน ตาลแก้วไพฑูรย์ ตาลแก้วผลึก ตาลแก้วทับทิม ตาลบุษราคัม และตาลแก้วทุกอย่าง
พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ต่อมาได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ส่วนกุสาวดีนครก็เสื่อมทรามไปตามกาลเวลาไม่พ้นกฏของไตรลักษณ์ กุสาวดีที่ยิ่งใหญ่ในอดีตกาลนั้นในครั้งพุทธกาลเป็นเพียงเมืองเล็กๆ ชื่อว่า กุสินารา ซึ่งเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพานนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น